ในเว็บนี้จะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ ความหมายของฉัน ความเป็นมาของฉันท์ ข้อบังคับของฉันท์

คณะของฉันท์ กลวิธีและความนิยมในการเขียนฉันท์ การเลือกใช้ฉันท์ชนิดต่าง ๆ ลักษณะ

และข้อบังคับของฉันท์แต่ละชนิด

          ฉันท์ คือลักษณะถ้อยคำที่กวีได้ร้อยกรองขึ้น เพื่อให้เกิดความไพเราะ โดยกำหนดครุ ลหุ

และสัมผัสเป็นมาตรฐาน

         ฉันท์เป็นคำประพันธ์ที่ได้แบบอย่างมาจากอินเดีย เดิมแต่งเป็นภาษาบาลี และสันสกฤต

ไทยนำเปลี่ยนแปลงลักษณะบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับความนิยมในคำประพันธ์ไทย ตำราฉันท์ที่เป็น

แบบฉบับของฉันท์ไทย คือ คัมภีร์วุตโตทัย (อ่านตำราฉันท์ของไทยเพิ่มเติม ได้จากหนังสืออ้างอิง)

การเลือกใช้ฉันท์ชนิดต่าง ๆ

         การเลือกใช้ฉันท์ ต้องเลือกให้เหมาะกับวัตถุประสงค์หรือเนื้อเรื่องที่จะเขียน

     ๑. บทนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บทไหว้ครู บทสรรเสริญพระเกียรติ ความขลัง ใช้ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์

หรือสัทธราฉันท์

     ๒. บทเล่าเรื่อง บทชม คร่ำครวญ นิยมใช้ อินทรวิเชียรฉันท์ หรือวสันดิลกฉันท์

     ๓. บทแสดงอารมณ์รุนแรง เช่นโกรธ ตื่นเต้น วิตกกังวล หรือบรรยายความในใจเกี่ยวกับความรัก

ที่ต้องการให้เห็นอารมณ์สะเทือนใจอย่างมาก นิยมใช้ อิทิสังฉันท์ ซึ่งเป็นฉันท์ที่สลับเสียงหนักเบา

เน้นเสียงเป็นจังหวะทุกระยะ

     ๔. บทพรรณนาโวหารหรือบรรยายข้อความที่น่าตื่นเต้น หรือเป็นที่ประทับใจ นิยมใช้

ภุชงคประยาตฉันท์

     ๕. บทสนุกสนานขบขัน หรือคึกคักสับสน ให้เหตการณ์บรรยายไปอย่างรวดเร็ซจะนิยมใช้

โตฏกฉันท์ มาณวกฉันท์ หรือจิตรปทาฉันท์

     ๖. บทบรรยายความ นิยมใช้ อุเปนทรวิเชียรฉันท์ อินทวงสฉันท์ วิชชุมมาลาฉันท์ หรือสาลินีฉันท์

แผนผังและตัวอย่างคำประพันธ์ประเภทฉันท์ที่นิยมแต่ง

มาณวกฉันท์๘ (มา-นะ-วก-กะ-ฉัน) ฉันท์ที่มีลีลาเสียงไพเราะงดงามให้ความสดชื่นมีชีวิตชีวา

ประดุจมาณพหนุ่มน้อย


มาณวกฉันท์ ๘
๏   ปางศิวะเจ้า
เนา  พิมาน
บรรพตศานต์ โสภณไกร-
ลาสรโห โอ่หฤทัย
ทราบมนใน กิจพิธี
๏   ทวย ธ กระทำ กรรมพิเศษ
อัศวเมธ ปูชยพลี
เคลื่อนวรองค์ ลงปฐพี
สู่พระพิธี สาทรกรรม
  (อิลราชคำฉันท์)

วิชชุมมาลาฉันท์ ๘ ฉันท์ที่เปล่งสำเนียงยาวดุจสายฟ้าแลบที่มีรัศมียาว

๏   แรมทางกลางเถื่อน ห่างเพื่อนหาผู้
หนึ่งในนึกดู เห็นใครไป่มี
หลายวันถั่นล่วง เมืองหลวงธานี
นามเวสาลี ดุ่มเดาเข้าไป
๏   ผูกไมตรีจิต เชิงชิดชอบเชื่อง
กับหมู่ชาวเมือง ฉันอัชฌาสัย
เล่าเรื่องเคืงขุ่น ว้าวุ่นวายใจ
จำเป็นมาใน ด้าวต่างแดนตน
  สามัคคีเภทคำฉันท์

สาลินีฉันท์ ๑๑ หมายถึง ฉันท์ที่มากไปด้วยครุ ซึ่งเปรีบเหมือนแก่นหรือหลัก

๏   เกียจคร้านการทำงาน บมีบ้านจะอาศัย
เกิดมาเป็นคนไทย ฤควรท้อระย่องาน
๏   ทำกินถิ่นของตัว ผิทำชั่วก็เป็นพาล
ชั่วผิดติดสันดาน วิบัติกรรมจะนำผล
๏   เหตุนี้ควรหมั่นเพียร ริเริ่มเรียนระวังตน
อย่ากลั้วมั่วกับคน ทุศีลสร้างทุราบาย
๏   ดูจีนในถิ่นไทย เจริญวัยเพราะค้าขาย
จีนนั้นหมั่นขวนขวาย ขยันงานและออมสิน
  หลักภาษาไทย : กำชัย ทองหล่อ

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ หมายถึงฉันที่มีลีลาอันรุ่งเรืองงดงามประดุจสายฟ้าซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร

แบบท่องจำ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

๏   พวกราชมัลโดย พลโบยมิใช่เบา
สุดหัตถแห่งเขา ขณะหวดสิพึงกลัว
๏   บงเนื้อก็เนื้อเต้น พิศเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว ก็ระริกระริวไหว
๏   แลหลังละโลมโล- หิตโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจ ระกะร่อยเพราะรอยหวาย
๏   เนื่องนับอเนกแนว ระยะแถวตลอดลาย
เฆี่ยนครบสยบกาย สิรพับพะกับคา
  (สามัคคีเภทคำฉันท์)

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ชื่อเล็บนาง

๏   พี่บอกจะขอยล นฤมลนขาเชย
สั่นเทิ้มมิคุ้นเลย อุระไหวระส่ำกาย
๏   ลูบไล้ ณ นิ้วนวล กลชวนภิรมย์หมาย
สัมผัส มิเสียดาย ดรุณีสิลืมตน
๏   ล่วงกาลมินานนัก นขลักษณ์ก็ฝากผล
ชายชัง ก็ล่องหน นฤมลก็หมองมัว
๏   เล็บนาง ก็กางร่าย สติชายสะพรึงกลัว
เล็บนาง สะกิดทั่ว ปริรอยประทับตรา
  : หมูอ้วน - 30/01/2002 14:27

อุเปนทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ แปลว่ารองอินทรวิเชียร คือมีลักษณะคล้าย ๆ อินทรวิเชียรฉันท์

๏   พระนางพิโรธกริ้ว นะก็ควรจะมากมาย
และเหตุก็แรงร้าย จะมิทรงพิโรธฤๅ
๏  ก็แต่จะพาที บมิได้ถนัดฮือ
เพราะเกรงจะอึงอื้อ จะมิพ้นละโทษทัณฑ์
  มัทนะพาธา

กมลฉันท์ ๑๒ (กะ-มะ-ละ-ฉัน) แปลว่าฉันที่มีลีลาดุจกล่อมใจให้เพลิดเพลิน

๏  จรเวิ้งวนาวาส ก็ระดาษดำเนินราย
ยุระเยื้องชำเลืองชาย นยน์ชมผกามาลย์
๏  อรอันสนัดขับ สุรศัพท์ประเลงลาน
วนเซ่ผสานขาน รุขเทพบำเทิงถวิล
  อิลราชคำฉันท์

ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ (ภุชงค์ หมายถึง งู หรือนาค ประยาต หมายถึงอาการงูเลื้อย) ฉันท์ที่มีลีลา

งดงามประดุจการเลื้อยของงู

๏   มนัสไทยประณตไท้ นรินทร์ไทยมิท้อถอน
มิผูกรักมิภักดิ์บร มิพึ่งบารมีบุญ
๏   ถลันจ้วงทะลวงจ้ำ บุรุษนำอนงค์หนุน
บุรุษรุกอนงค์รุน ประจญร่วมประจัญบาน
  ฉันท์ยอเกียรติชาวนครราชสีมา

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ (วะ-สัน-ตะ-ดิ-หลก-กะ -ฉัน) ฉันที่มีลีลางามวิจิตรประดุจรอยแต้มที่กลีบเมฆ

ซึ่งปรากฎในตอนต้นแห่งวสันตฤดู

๏   อ้าเพศก็เพศนุชอนงค์ อรองค์ก็บอบบาง
ควรแต่ผดุงศิริสอาง ศุภลักษณ์ประโลมใจ
๏   ยามเข็ญก็เข็นสริระอวย พลช่วยผจญภัย
โอ้ควรจะเอื้อนพจนไข คุณเลิศมโหฬาร
๏   อ้าหัตถ์ก็หัตถ์สุขุมชวน มนะหวนฤดีดาล
ควรแต่จะถือสุรภิมาล- ยประมูลมโนรมย์
๏   ยามทุกข์ก็ถือวิวิธอา- วุธฝ่าระทมตรม
โอ้ควรจะเอื้อนพจนชม คุณชั่วนิรันดร์กาล
  คำฉันท์ยอเกียรติชาวนครราชสีมา

สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙ (สัด - ทุน-ละ-วิก-กี-ลิ-ตะ-ฉัน) ฉันท์ที่มีลีลาประดุจสิงโตคะนอง

๏   ข้าขอเทิดทศนัขประนามคุณพระศรี สรรเพชญพระภูมี
พระภาค  
๏   อีกธรรมาภิสมัยพระไตรปิฎกวากย์ ทรงคุณคะนึงมาก
ประมาณ  
๏   นบสงฆ์สาวกพุทธ์พิสุทธิ์อริยญาณ นาบุญญบุญบาน
บ โรย  
๏   อีกองค์อาทิกวีพิรียุตมโดย ดำรงดำรับโปรย
ประพันธ์  
๏   ผู้เริ่มรังพจมานตระการกมลกรรณ ก้มกราบพระคุณขันธ์
คเณศ  
๏   สรวมชีพอัญชลีนาถพระบาทนฤเบศ มงกุฏกษัตริย์เกษตร
สยาม  
๏   ที่หกรัชสมัยก็ไกรกิติพระนาม ทรงคุณคามภี-
รภาพ  
  อิลราชคำฉันท์

อีทิสังฉันท์ ๒๐ ฉันท์มีลีลางดงามประดุจฉันท์ที่ได้พรรณนามาแล้วข้างตน บ้างก็เรียก "อีทิสฉันท์"

๏   อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจี ประดุจมะโนภิรมระตี
ณ แรกรัก  
๏   แสงอรุณวิโรจน์นะภาประจักษ์ แฉล้มเฉลาและโสภินัก
ณ ฉันใด  
๏   หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย สว่าง ณ กลาง กะมลละไม
ก็ฉันนั้น  
๏   แสงอุษาสกาวพะพราวสวรรค์ ก็เหมือนระตีวิสุทธิอัน
สว่างจิต  
  มัทนะพาธา

๑. วรรคหนึ่งมี ๔ คำ นับ ๒ วรรค หรือ ๒ กลอนเป็นหนึ่งบาท ๒ บาทเป็นหนึ่งบทเพราะบาทหนึ่งมี ๘ คำ จึงเรียกว่าฉันท์ ๘ บาทแรกเรียกบาทเอกหรือบาทขอน บาทหลังเรียกบาทโทหรือบาทคู่ เรียกเหมือนกันเช่นนี้ทุกฉันท์

๒. เครื่องหมาย ๐หมายความว่าครุ ส่วนวงกลมที่มีหางด้านล่างหมายถึงลหุ นอกจากนั้นเป็นครุ

๓. สัมผัสให้ดูตามเส้นโยง คำที่ ๔ ของวรรคที่ ๑ ซึ่งสัมผัสกับคำที่ ๓ในวรรคที่ ๒ นั้นบางทีก็ไม่นิยม

๔. จิตรปทาแนท์ นิยมแต่ง ๒ บทคู่กันเป็นตอนหนึ่ง เมื่อขึ้นตอนต่อไป ต้องย่อหน้าทุก ๆ ตอน และต้องให้คำกสุดท้ายบทที่ ๒ ของตอนต้นสัมผัสกับคำสุดท้ายของบทที่ ๑ ของตอนต่อๆ ไป ดังตัวอย่างที่แสดงไว้ จะแต่งยาวเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องสัมผัสกันเช่นนี้เสมอ
จะจบลงในบาทเอกไม่ได้

๕. จิตรปทาแนท์ หมายความว่าฉันท์ที่มีส่วนหรือข้อความไพจิตรงดงาม


หนังสืออ้างอิง

กำชัย ทองหล่อ หลักภาษาไทย รวมสาส์น (1977) จำกัด กทม 2547
สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย สาขาศึกษาศาสตร์ เอกสารการสอนชุดวิชาภาษาไทย 2การประพันธ์ไทย หน่วยที่ ๖
        การประพันธ์ฉันท์ พ.ศ. ๒๕๔๑ พิมพ์ครั้งที่ ๓หน้า๒๙๐ -๓๒๖

วิเชียร เกษประทุม ลักษณะคำประพันธ์ กรุงเทพฯ พัฒนาการศึกษา , ๒๕๔๓Tongue out

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 9,841 Today: 3 PageView/Month: 6

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...